ในช่วงวันหยุด หรือหลังเลิกงาน ผมมักใช้ชีวิตไม่เหมือนกับคนเมืองทั่วไปสักเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่บ้านหลังเล็กที่อาศัยแทบจะอยู่ใจกลางตัวเมืองหลวง สามารถเดินทางไปห้างสรรพสินค้าทุกแห่งได้อย่างสะดวกโดยที่ไม่ต้องลำบากรถส่วนตัว ผมกลับไม่เลือกใช้ชีวิตแบบนั้น เวลาว่าง ถ้าไม่ได้เดินทางไปต่างจังหวัด ผมก็จะไปสถิตอยู่ในร้านกาแฟเล็กๆ นั่งคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนไม่ชอบอยู่เฉย หรือไม่ก็อยู่กับบ้าน อ่านหนังสือหรือบทความดีๆ ในอินเทอร์เน็ตที่จะสามารถกระตุกต่อมความคิดจนกลั่นออกมาเป็นบล็อกที่ท่านกำลังอ่านกันอยู่
ถ้าถามว่าหนึ่งในหนังสือที่ภูมิใจได้เป็นเจ้าของมากที่สุดคืออะไร ผมก็แทบจะตอบได้เลยทันทีว่า The Medium is the Massage เขียนโดยมาร์แชล แมคลูแฮน (Marshall McLuhan) นักวิเคราะห์สื่อชื่อดัง ออกแบบโดยเควนติน ฟอร์ (Quentin Fiore) กราฟิกดีไซน์เนอร์ และร่วมสร้างสรรค์โดยเจอโรม อเจล (Jerome Agel) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1967 โดย Bantam Books ที่ปัจจุบันโดนสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ Random House ซื้อกิจการไปแล้ว
![]() |
มาร์แชล แมคลูแฮน (Marshall McLuhan) |
ทำไมผมถึงชอบหนังสือเล่มนี้นักหนา? คำตอบคือ “ความขลัง” และ “ความแปลก” ที่ผู้เขียนบรรจงสร้างสรรค์ขึ้น The Medium is the Massage ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับหนังสือเชิงวิชาการบรรยายโวหารทั่วไป หากแต่ใช้เทคนิคการเขียนเชิงทดลอง (experimental writing) ซึ่งก็คือการเขียนที่ฉีกไปจากแนวคิดเดิม งานเขียนลักษณะนี้ที่เคยผ่านตาผมมาก็เช่น ผลงานของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Verginia Woolf) ที่มักเล่นกับกระแสสำนึก (stream of consciousness) หรือในศิลปะแขนงอื่นก็เช่น การถ่ายทอดสดผ่านทางวิทยุมนุษย์ดาวอังคารถล่มโลกโดยออร์สัน เวลส์ (Orson Welles) ที่เคยสร้างความแตกตื่นให้กับชาวอเมริกันมาแล้ว
สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็เช่นเดียวกันที่แนวทางการเขียนและออกแบบไม่เหมือนใคร เมื่อเปิดอ่านดูครั้งแรกก็จะพบกับความแปลกใจว่านี่มันคือหนังสือเหรอ (ฟระ!) ไม่เห็นมีบทนำ หรือสารบัญอะไรทั้งสิ้น ดูเผินๆ เหมือนกับ scrapbook ส่วนตัวที่เกิดจากการนำภาพและตัวอักษรต่างๆ มาปะติดปะต่อกันให้ดูเหมือนมีเรื่องมีราว บางหน้าต้องส่องกระจกอ่าน แถมรูปกับคำบรรยายบางแห่งยังไม่ใช่เนื้อหาเดียวกันอีก โครงสร้างหนังสือที่ผิดแปลกแหวกแนว และการที่รูปแบบกับข้อความถูกทำให้ผสมปนเปเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออกว่าสิ่งใดสำคัญกว่า นับเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่ต่อมาได้กลายมาเป็น “ไอคอน” ของวงการดีไซน์สิ่งพิมพ์ และส่งผลต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากหนังสือขายดีของพอล อาร์เดน (Paul Arden) It’s Not How Good You Are, Its How Good You Want To Be และ God Explained in a Taxi Ride ที่ใช้แนวคิดรูปแบบนำตัวสารเช่นกัน
![]() |
ตัวอย่างการจัดรูปแบบ “สื่อกลาง” นำ “ตัวสาร” ของ The Medium is the Massage ที่ต่อมาได้กลายเป็นไอคอนของวงการไป |
The Medium is the Massage สามารถแปลได้ตรงๆ ว่า “สื่อกลางคือตัวสาร” อันเป็นการชี้ให้เห็นว่า “สื่อกลาง” (medium) อาจไม่ได้เป็นทางผ่านของ “ตัวสาร” (messege) ที่ผู้่ส่งต้องการส่งมอบไปยังผู้รับสารอีกต่อไป หากแต่มีอำนาจและอิทธิพลทางความคิดเท่าเทียมหรือมากกว่าตัวสารจริงๆ ซะด้วยซ้ำ และด้วยเหตุที่สื่อกลางกลับมีสาระสำคัญของมันเอง จึงอาจทำให้เกิดอุปสรรคของการสื่อสารขึ้น เนื่องจากสาระสำคัญของตัวสารอาจไม่ตรงกับสาระสำคัญที่สื่อกลางสามารถสร้างออกมาระหว่างการส่งมอบจากผู้ส่งไปยังผู้รับสาร
แมคลูแฮนได้นำเสนอแนวคิดว่า เทคโนโลยีที่ถูกแปรรูปให้เป็นสื่อกลางหรือวิธีส่งสาร ล้วนมีอิทธิพลต่อการรับรู้ตัวสารของผู้รับ นอกจากนั้น เทคโนโลยียังถูกมองว่าเป็นส่วนขยาย (extension) ของอวัยวะมนุษย์ เช่น ล้อเป็นส่วนขยายของเท้า หนังสือเป็นส่วนขยายของดวงตา เสื้อผ้าเป็นส่วนขยายของผิวหนัง เป็นต้น เมื่อเราถูกสื่อกลางต่างๆ เหล่านี้ถาโถมเข้าทุกวัน จิตสำนึกและการรับรู้ของเราจึงขึ้นตรงต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จนในท้ายที่สุดสมองของเราอาจถูกหลอกให้เข้าใจผิดไปว่า สาระที่สื่อกลางแสดงออกมานั้นถูกต้องตรงกับสาระของตัวสารที่ผู้ส่งต้องการเผยแพร่ออกไปตั้งแต่ทีแรก
ภายใต้แนวคิดดังกล่าว โทรทัศน์ ซึ่งก็คือสื่อกลางในตัวของมันเอง เมื่อถูกใช้ให้ส่งตัวสารใดๆ ไปยังผู้รับ ไม่ว่าตัวสารจะเป็นไปในลักษณะใด โฆษณา รายการเกมโชว์ ภาพยนตร์ ล้วนไม่มีความสำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ผู้รับสารจะได้รับก็คือความบันเทิง ซึ่งอาจผิดแผกไปจากจุดประสงค์แรกเริ่มของผู้ส่งที่อาจเป็นนักการตลาดผู้ต้องการขายสินค้าของตนให้ได้มากขึ้นผ่านสื่อกลางตัวนี้
การสื่อสารของโลกในยุคปัจจุบันนับว่าก้าวหน้าและไปไวกว่าสมัยที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกมาก สมัยนั้นอย่างเก่งก็มีเพียงโทรทัศน์และวิทยุ แต่สมัยนี้เรามีทั้ง facebook และ twitter ที่รับผิดชอบเป็น “สื่อกลาง” ที่จะคอยเผยแพร่ “ตัวสาร” แน่นอนว่าความไวที่มากเกินไปย่อมทำให้เราขาดวิจารณญานดีพอที่จะถอดรหัสข้อความที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อออกไปตอนแรก
ย้อนกลับไปเมื่อ 29 ปีีที่แล้ว ในวันที่ 19 กันยายน 1982 สกอต ฟาห์ลแมน (Scott Fahlman) ได้นำเสนออีโมติคอน 🙂 และ 😦 เพื่อใช้แสดงอารมณ์ของข้อความที่พิมพ์ส่งถึงกันในกระดานสนทนาของคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เขากล่าวว่า ที่ตัดสินใจประดิษฐ์อีโมติคอนขึ้นมาก็เพราะต้องการแยกข้อความที่มีเนื้อหาตลกขบขันออกจากเนื้อหาจริงจัง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า หลายครั้ง สื่อกลางอย่างรูปภาพสามารถใช้แทนสาระของข้อความได้ โดยเฉพาะเวลาที่ตัวสารไม่มีอำนาจในการแสดงอารมณ์มากพอ
![]() |
ข้อความที่สกอต ฟาห์ลแมน นำเสนอการใช้อีโมติคอนเพื่อแยกระหว่างข้อความที่เขียนเล่นๆ จากข้อความที่ซีเรียสจริงจัง |
กลับมาในยุคปัจจุบัน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ซึ่งก็คือ ภาพของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังยืนดูดน้ำในวันแรกของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งทางนักข่าวของมติชนสามารถจับภาพได้ และส่งไปให้กองบรรณาธิการเผยแพร่
ช็อตเด็ดดังกล่าวนี้ถูกขึ้นเป็น “ภาพนำ” พร้อมกับคำบรรยายบนเว็บไซต์ทันที และถูกเผยแพร่ส่งต่อไปมากผ่านเครือข่ายสังคม
![]() |
ภาพนายกยิ่งลักษณ์ดูดน้ำ ที่กลายมาเป็นประเด็นวิจารณ์ในวงกว้างพักหนึ่ง ขอขอบคุณภาพจากมติชนออนไลน์ |
ภาพนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนาหูถึงความเหมาะสม ฝ่ายที่ชอบเพื่อไทยบอกว่ายิ่งลักษณ์สวยมาก เพราะช่างภาพจับช่วงเวลาแคนดิดได้ดี รูปจึงออกมาเป็นธรรมชาติ ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็โจมตีว่าภาพคนดูดน้ำแค่นี้เป็นข่าวได้หรือ? มติชนต้องการเลียเพื่อไทยอย่างหนักถึงขนาดลดระดับจรรยาบรรณของสื่อเพื่อแสดงคอนเท้นต์อะไรก็ได้ที่ทำให้เพื่อไทยออกมาดูดีอย่างนั้นหรือ? ถ้าเป็นอภิสิทธิ์ดูดน้ำบ้างล่ะ จะเอาลงเป็นข่าวไหม?
ร้อนถึงทางทีมงานที่ต้องออกมาแก้ต่างว่า แท้จริงแล้ว ภาพยิ่งลักษณ์ดูดน้ำเป็นเพียง “ภาพนำ” ไม่ใช่ “ข่าวนำ” หรือ “ข่าวเด่น” ที่จะต้องมีสาระสำคัญ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่มติชนเคยผลิตแต่สื่อหนังสือพิมพ์ที่การจัดเรียงคอนเท้นต์ประเภทต่างๆ จะต้องเข้ากันกับโครงสร้างของหนังสือพิมพ์ที่ประกอบไปด้วย ภาพนำ ข่าวนำ ข่าวเด่น คอลัมน์ ฯลฯ เนื่องจากเว็บไซต์เป็นสื่อใหม่จึงยังไม่มีแนวทางในการแสดงคอนเท้นต์ต่างๆ เหล่านี้แยกจากกันอย่างเด่นชัดนัก เมื่อถูกเผยแพร่ออกไป จึงเกิดความเข้าใจผิดว่า “ภาพนำ” ดังกล่าวคือ “ข่าว” โดยไม่ได้ตั้งใจ
หรือพูดง่ายๆ ก็คือสาระของ “สื่อกลาง” ที่เป็นเครื่องมือเผยแพร่นั้น ไม่ตรงกับสาระของ “ตัวสาร” ที่ผู้ส่งสารต้องการแสดงออกไปนั่นเอง
สื่อใหม่ร่วมสมััยมีดีเด่นอยู่อย่างเดียวนั่นก็คือ “ความเร็ว” ที่ถูกติดไนตรัสด้วยปุ่ม “แชร์” กับ “ไลค์” หลายครั้งที่เราไม่ทันจะถอดรหัสสาระที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อออกมา ตัวสารก็วิ่งไปไกลแล้่ว
บางทีทางแก้ไขที่ถูกต้องคือ ไม่แน่ใจอะไรก็อย่างแชร์ เพราะเมื่อมันวิ่งไปไกลผ่านการรับรู้ของผู้คนจำนวนมากแล้ว ก็ยากที่จะกู้ให้สาระเดิมให้กลับคืนมา
ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ควรปรับตัว เมื่อรู้ว่าสื่อสมัยนี้มันไปไวและเสี่ยงต่อการตีความผิดพลาด ก็ควรโละตำราเก่าๆ ทิ้ง และคิดหาหนทางใหม่ในการนำเสนอข่าวสารเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำสอง
สุดท้าย ใครที่ตาดีๆ หน่อยอาจสงสัยคำว่า “Massage” ในชื่อหนังสือนั้นผมพิมพ์ผิดหรือเปล่า? คำตอบคือ ไม่ผิดหรอกครับ และผู้แต่งหนังสือก็ทราบดี แต่ก็ยังให้คงไว้แบบนั้น เพราะมันสามารถอ่านพ้องเสียงได้ทั้งแบบ Messege เป็น Mess Age หรือ Massage เป็น Mass Age ก็ได้ทั้งนั้น
เป็นนัยว่า สื่อกลางในยุคนี้ มันช่างยิ่งใหญ่และบ้าบอที่สุดนั่นเอง!