ตลอดทั้งปี 2011 ที่ผ่านมาวงการคอมพิวเตอร์มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากมาย และเราก็ได้เห็นนวัตกรรมหลายๆ อย่างที่แต่ก่อนเป็นเพียงคอนเซ็ปต์ในหน้ากระดาษได้ออกมาโลดแล่นแสดงศักยภาพให้เราได้เห็นอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นชิพ Sandy Bridge จาก Intel ชิพเอพียูและ Bulldozer จาก AMD และที่สำคัญคือ Windows 8 ซึ่งได้รับการออกแบบมาใหม่ชนิดที่เรียกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
เช่นเดียวกับในปี 2012 ที่ความเคลื่อนไหวต่างๆ มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นชิพ Ivy Bridge และ Haswell จาก Intel ชิพ Trinity และ Southern Islands จาก AMD หรือ Kepler จาก NVIDIA ที่ได้รับการปิดบังมานาน ซึ่งสำหรับบทความนี้ผมจะนำพาท่านผู้อ่านไปให้รู้จักกับเทคโนโลยีเด่นๆ ดังกล่าวทีละตัวกันเลยครับ 😀
Ivy Bridge ทายาทความแรงรุ่นต่อไปจาก Intel
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงเทคโนโลยีดาวเด่นของปีนี้แล้ว จะไม่ให้กล่าวถึงชิพ Ivy Bridge เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงแม้โครงสร้างสถาปัตยกรรมภายในยังคงอิงกับ Sandy Bridge เดิม (หมายความว่าประสิทธิภาพอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก) แต่ก็เป็นโปรเซสเซอร์ที่ถูกอัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมมากมาย ที่โดดเด่นสุดก็คือเป็นชิพตัวแรกใช้กระบวนการผลิต 22 นาโนเมตรพร้อมด้วยเทคโนโลยี 3D Trigate Transister ส่งผลให้ตัวชิพใช้พลังงานและปล่อยความร้อนออกมาน้อยลง
นอกจากจะใช้กระบวนการผลิตใหม่แล้ว ประสิทธิภาพด้านการประมวลผลกราฟิกที่มากขึ้นก็นับเป็นจุดที่ทำให้ Ivy Bridge พูดถึงกันมาก เพราะเป็นความจริงที่ว่า ถึงแม้ Sandy Bridge จะมีประสิทธิภาพด้านการประมวลผลทั่วไปที่ดีเลิศ แต่ด้านการประมวลผลกราฟิกนั้นกลับไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ค่ายคู่แข่งสามารถใช้จุดอ่อนตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ได้ แต่กับ Ivy Bridge แล้ว Intel ให้คำมั่นว่าความสามารถของแกนกราฟิกภายในจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาก อีกทั้งยังรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง DirectX 11 และ Open CL 1.1 ด้วย
ผลการทดสอบเบื้องต้นที่หลุดออกมาได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับชิพรุ่นก่อนแล้ว Ivy Bridge มีประสิทธิภาพในการประมวลผลทั่วไปเหนือกว่าราว 20% ในขณะที่ในด้านการประมวลผลกราฟิกดีกว่าราว 30% ถ้าเป็นจริงก็นับว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียวครับ เตรียมพบน้องไอวี่ได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้
Haswell เปิดตัวความแรงในยุคหน้า
ถ้าชิพ Ivy Bridge คือดาวเด่นแห่งปี 2012 แล้ว Haswell ก็คงมีสถานะเดียวกันในปี 2013 ถึงแม้ว่าเราอาจต้องรออีกร่วมปีกว่าชิพตัวนี้จะออก แต่ที่ผมเลือกนำมาเสนอก็เพราะเชื่อว่าตลอดทั้งปี Intel คงเผยรายละเอียดของชิพตัวนี้ออกมาเป็นระยะ
ข้อมูลเกี่ยวกับชิพตัวนี้ที่ได้รับการเปิดเผยแล้วก็คือ จะยังคงใช้เทคโนโลยีการผลิต 22 นาโนเมตรเช่นเดียวกับ Ivy Bridge แต่จะใช้โครงสร้างสถาปัตยกรรมการทำงานใหม่หมดโดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานเป็นสำคัญ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าชิพ Haswell จะมีแกนประมวลผลตั้งแต่ 2-4 แกน พร้อมรองรับชุดคำสั่ง AVX2 และเทคโนโลยี Hyper-Threading ตามระเบียบ ด้านแกนประมวลผลกราฟิกภายในก็ได้รับการอัปเกรดไปใช้รุ่นใหม่ที่มีชื่อรหัสว่า Denlow ซึ่งจะมีรุ่นย่อยที่ยังไม่รับการเปิดเผยรายละเอียดด้วยกันสามรุ่น แต่ทั้งหมดจะรองรับ DirectX 11.1 และ OpenGL 3.2 การเปลี่ยนแปลงหลักอย่างอื่นคือโครงสร้างสถาปัตยกรรมของหน่วยความจำแคชที่อาจถูกเพิ่มปริมาณไปมาก โดยแคชระดับสองอาจมีมากถึง 1MB ต่อแกนประมวลผล และระดับสามอาจมากถึง 16MB สำหรับการใช้พลังงานนั้น คาดว่ารุ่นสำหรับเดสก์ท้อปอาจอยู่ที่ราว 35-95 วัตต์ ส่วนรุ่นสำหรับแล้ปท้อปจะอยู่ที่ราว 15-57 วัตต์เท่านั้น ทำให้เหมาะที่จะนำไปใช้กับ Ultrabook อย่างยิ่งครับ
Trinity เอพียูยุคหน้าจาก AMD
หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับชิพเอพียูบนเดสก์ท้อปที่มีชื่อว่า AMD-A หรือ Llano สำหรับตลาดระดับกลาง-ล่างไปแล้ว คาดว่าในปี 2012 นี้ AMD คงจะมุ่งมั่นพัฒนาชิพที่ใช้หลักการออกแบบเดียวกันเพื่อป้อนให้กับตลาดในระดับบนขึ้นมาด้วย และ Trinity คือคำตอบที่่ว่านี้ครับ
ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับการเปิดเผยมาแล้วระบุว่า Trinity จะประกอบไปด้วยแกนประมวลผลทั่วไปที่มีชื่อว่า Piledriver ซึ่งเป็นรุ่นอัปเกรดของ Bulldozer นั่นเอง มีปริมาณแกนประมวลผลมากที่สุด 4 แกน โดยรวมเข้ากันกับแกนประมวลผลกราฟิก AMD Radeon HD7000 หรือ Southern Islands ที่รองรับเทคโนโลยี DirectX 11 อย่างครบถ้วน ส่วนกระบวนการผลิตนั้นจะยังคงไว้ที่ 32 นาโนเมตร ส่งผลให้ชิพ Trinity สำหรับเดสก์ท้อปจะมีค่า TDP ตั้งแต่ 65-100 วัตต์แล้วแต่รุ่น นอกจากนั้นก็ยังรองรับหน่วยความจำ DDR3 ตามสมัยนิยม แต่ข่าวร้ายคืออาจต้องใข้ร่วมกับซ็อกเก็ตใหม่คือ FM2 ครับ
ด้านประสิทธิภาพเท่าที่ได้รับการเปิดเผยคือ เมื่อเทียบกับชิพ Llano เดิมแล้ว Trinity จะมีความเร็วในการประมวลผลทั่วไปมากกว่าราว 20% ส่วนด้านกราฟิกจะไวกว่าราว 30% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแอพพลิเคชันที่ใช้งาน สำหรับวันวางจำหน่ายนั้นข่าวล่าสุดระบุว่า AMD จะเริ่มเดินสายการผลิตในเดือนมีนาคมนี้ครับ
Southern Islands เกาะสวรรค์สำหรับเกมเมอร์?

ผมเคยเขียนถึงชิพ AMD Radeon HD7000 หรือที่มีชื่อรหัสว่า Southern Islands ไปแล้วในคอลัมน์เดียวกันนี้เมื่อเดือนที่ผ่านมา และนับแต่นั้น AMD ก็ยังคงปิดปากเงียบไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลใดๆ เพิ่ิมเติม ทำให้เราทราบแต่เพียงว่า Radeon HD7000 ทุกรุ่นจะใช้กระบวนการผลิต 28 นาโนเมตร และสามารถแบ่งเป็นสองรุ่นใหญ่ด้วยกันคือ รุ่นที่ใช้ชิพสถาปัตยกรรม VLIW 4 (Very Long Instruction Word 4) ซึ่งเป็นรุ่นกลาง-ล่างที่เน้นด้านการประหยัดพลังงาน กับรุ่นบนคือที่ใช้ชิพสถาปัตยกรรม AMD Graphics Core Next (GCN) ที่เน้นด้านประสิทธิภาพ และจะมาพร้อมกับแรม XDR2 จาก Rambus ซึ่งจะเร็วถึงขนาดทำให้ GDDR5 กลายเป็นเด็กอนุบาลไปเลย
สำหรับลูกเล่นอื่นที่เราทราบตอนนี้คือจะรองรับบัส PCI Express 3.0 และเทคโนโลยี Power Tune ที่อนุญาตให้ระบบสามารถปรับแต่งประสิทธิภาพของตัวการ์ดให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ณ ขณะนั้นได้ สำหรับด้านประสิทธิภาพนั้นคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมแบบรุ่นต่อรุ่น อยากเช่น ชิพ Tahiti หรือ Radeon HD7900 นั้นจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่า Radeon HD6990 ซึ่งเป็นชิพคู่ตัวแรงในปัจจุบันเลยทีเดียว เราคงต้องรอลุ้นกันภายในครึ่งแรกของปีนี้ครับว่าประสิทธิภาพจริงๆ จะเป็นอย่างไร
Kepler ดาวอันเจิดจรัสของ NVIDIA
พูดตรงๆ เลยก็คือเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมานั้น ไม่นับว่าเป็นปีที่สดใสของการ์ดกราฟิกมากนัก เนื่ิองจากทั้งสองค่ายหลักต่างไม่มีนวัตกรรมใหม่ออกมาเลย เพียงแต่นำของเดิมมาแต่งหน้าทาปากให้ดูดีขึ้นแล้ววางจำหน่ายภายใต้ชื่อใหม่เท่านั้น แต่ปี 2012 นี้เหตุการณ์กลับตรงกันข้าม เพราะทั้งคู่่ต่างกำลังซุ่มทำสุดยอดการ์ดกราฟิกเพื่อมากำจัดทรัพยากรเงินในกระเป๋าของเราอยู่
สำหรับ NVIDIA เองนั้นเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงน่าจะเคยได้ยินชื่อของ Kepler กันมาบ้างแล้ว โดยเป็นชื่อรหัสของจีพียูรุ่นต่อจาก Fermi ที่ใช้ใน Geforce 400 กับ 500 ในปัจจุบัน สำหรับรายละเอียดนั้นก็เช่นเดียวกันชิ้นอื่นที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยมากนัก ทราบแต่เพียงว่าจะใช้กระบวนการผลิต 28 นาโนเมตร และจะมีประสิทธิภาพในการคำนวณเลขทศนิยมมากกว่ารุ่นเดิม 3-4 เท่า โดยที่ใช้พลังงานเท่าเดิม นอกจากนั้นยังได้รับการเพิ่มความสามารถด้านการทำโปรแกรมในส่วนของ GPGPU (general purpose processing on GPU) หรือความสามารถในการทำให้การ์ดจอของเราประมวลผลด้านอื่นได้นอกจากกราฟิกนั่นเอง นอกจากนั้นก็จะมีพื้นที่หน่วยความจำเสมือนซึ่งสามารถเรียกใช้ได้ทั้งจากซีพียูและจีพียู รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประมวลผลจีพียูอัตโนมัติโดยปราศจากความช่วยเหลือจากซีพียู และรองรับความสามารถของ DirectX 11.1
เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ซีอีโอของ NVIDIA ได้ออกมาประกาศว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตชิพ Kepler ในเร็วๆ นี้ เพราะฉะนั้นคาดว่าเราอาจได้เห็นตัวเป็นๆ ในช่วงกลางปีนี้
สรุป
เป็นอย่างไรบ้างครับรายชื่อฮาร์ดแวร์สำหรับเกมเมอร์ที่น่าจับตาในปีนี้ แต่ละอย่างน่าสนใจทั้งนั้นเลย ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดีๆ ก็น่าจะวิเคราะห์ได้่ว่าเทรนด์ของฮาร์ดแวร์ปีนี้แทบทุกชิ้นจะเน้นไปที่การประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรีดเค้นประสิทธิภาพออกมาให้มากที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของอุปกรณ์พกพาที่กำลังมาแรง นับว่าสมาร์ทโฟนกับแท็บเล็ตที่เพื่อนๆ ถืออยู่ในมือล้วนส่งอิทธิพลต่อการออกแบบฮาร์ดแวร์ในยุคหน้าจริงๆ แล้วเจอกันเดือนหน้าครับ _/\_