AMD ปล่อยการ์ด Radeon HD7000 ออกมาแล้ววว ซึ่งก็ทำให้การ์ดจอของทุกท่านตกรุ่นกันไปเป็นที่เรียบร้อย แต่อย่างน้อยการกลับมาในครั้งนี้ของ AMD ก็ทำได้อย่างน่าประทับใจ เพราะประสิทธิภาพที่ได้รับจากทั้งการ์ด HD7970 และ 7950 จัดอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถทำคะแนนผลการทดสอบชนะการ์ดในระดับเดียวกันของคู่แข่งไปได้อย่างสบายๆ แถมยังกินไฟน้อยลง
แล้ว NVIDIA ล่ะ? หลังจากที่ปล่อยการ์ด Geforce 500 ออกมาเมื่อปีที่แล้ว เราก็ไม่แทบจะไม่ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับการ์ดรุ่นใหม่อีกเลย นับตั้งแต่ที่ผมได้เขียนบทความทำนายฮาร์ดแวร์มาแรงในปีนี้ที่ออกตีพิมพ์ไปเมื่อฉบับเดือนมกราคมนั้น ผมก็เฝ้ารอวันรอคืนให้พี่เขียวของเราเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมมาบ้าง แต่รายละเอียดที่ได้รับเพิ่มเติมเข้ามานั้นยังนับว่าน้อยมาก เรียกได้ว่า NVIDIA กั๊กของดีกันอย่างสุดฤทธิ์ แต่ถึงอย่างไรรายละเอียดที่เราทราบมาก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ลองมาดูกันเลยดีกว่าครับว่ามีอะไรบ้าง
สถาปัตยกรรมใหม่และกระบวนการผลิตที่ลดขนาดลง
แน่นอนว่าขึ้นชื่อการ์ดตระกูลใหม่ทั้งที หัวใจสำคัญหลักสองประการที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงคือโครงสร้างสถาปัตยกรรมและกระบวนการผลิต สำหรับอย่างแรกนั้นเรายังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกมากนัก ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ รู้แต่เพียงว่าสถาปัตยกรรมใหม่ที่มีชื่อว่า Kepler นี้จะเอื้อต่อการทำโปรแกรมมากขึ้น การเพิ่มความยืดหยุ่นในการพัฒนาดังกล่าวหมายความว่าชิพที่ใช้สถาปัตยกรรมนี้จะรองรับการประมวลผลที่ไม่ใช้กราฟิกได้ดีขึ้น ซึ่งเราเรียกลักษณะการประมวลผลแบบนี้ว่า general purpose processing on GPU หรือสั้นๆ ว่า GPGPU นั่นเอง
สำหรับเกมเมอร์แล้ว สิ่งที่เราจะได้รับประโยขน์ไปเต็มๆ คืออาหารที่สวยงามมากขึ้น สิ่งละอันพันละน้อยอย่าง เสื้อผ้าเส้นผมที่พลิ้วไหว หยดหรือกระแสน้ำที่เคลื่อนไหวตามแรงฟิิสิกส์ เศษไม้ก้อนหินที่กระเด็นกระดอนจากแรงระเบิด รวมทั้งฝุ่นผงที่ปลิวไปตามลมหายใจของตัวละคร (เวอร์ไปล่ะ แหะๆ) โดยทั้งหมดจะสามารถทำได้อย่างสมจริงมากขึ้น ลดความต้องการใช้งานจีพียูลง ซึ่งก็หมายความว่าเฟรมเรทขณะเล่นที่มากกว่าเดิมนั่นเอง

นอกจากนั้นประสิทธิภาพในการประมวลผลเลขทศนิยมก็ยังได้รับการปรับปรุงมากขึ้นสามถึงสี่เท่าตัวเมื่อเทียบกับอัตราการใช้พลังงานที่เท่ากัน นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพที่มากกว่าเดิมในขณะบริโภคพลังงานน้อยลง ซึ่งจะไปสอดคล้องกันกับการลดขนาดกระบวนการผลิตลงให้เหลือเพียง 28 นาโนเมตรที่ได้ถูก AMD นำร่องไปก่อนด้วยการ์ด Radeon HD7000
สำหรับคุณสมบัติอื่นที่คาดว่าจะมีก็คือพื้นที่่ว่างของหน่วยความจำเสมือน (virtual memory space) ซึ่งสามารถถูกเรียกใช้ได้จากทั้งจีพียูและซีพียู จึงทำให้แบ่งเบาภาระจากหน่วยความจำหลักที่ฮาร์ดแวร์ทั้งคู่เรียกใช้งานลงไปได้ แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบกระบวนการทำงานของลูกเล่นนี้มากนัก แต่คอนเซ็ปต์ก็นับว่าน่าสนใจ ผลที่ได้นั้นก็คาดว่าจะเอื้อต่อเกมที่ต้องมีการโหลดพื้นผิว (texture) มหาศาล อย่างเทคนิค Mega Texture ที่ใช้ในเกม Rage เป็นต้น ทำให้อาจช่วยป้องกันปัญหาพื้นผิวโหลดไม่ครบหรือช่วยเพิ่มความเร็วในการเรียกใช้งานได้ สำหรับอีกลูกเล่นหนึ่งที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยก็คือ ความสามารถที่ทำใช้จีพียูประมวลผลโดยอัตโนมัติโดยปราศจากความช่วยเหลือจากซีพียู เช่นกันที่ลูกเล่นนี้ยังเป็นเพียงข่าวลือ แต่ถ้าได้รับการพัฒนาจริงก็คาดว่าจะมีประโยชน์ในการที่จะไปช่วยลดภาระของซีพียูลง ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรไปกับการประมวผลด้านอื่นได้มากขึ้น อย่างเช่นการประมวลผล AI ให้กับตัวละคร NPC เป็นต้น

แล้วจะมีรุ่นใดบ้าง
อย่างที่กล่าวไป ข้อมูลเกี่ยวกับชิพที่จะใช้สถาปัตยกรรม Kepler ยังมีน้อยมาก รวมทั้งรายชื่อรุ่นของการ์ดที่จะใช้งานด้วย แต่อย่างน้อยๆ ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยมาระบุว่า เช่นเดิมที่ NVIDIA จะซอยย่อยชิพ Kepler ออกเป็นหลายๆ รุ่น ไล่ไปตั้งรุ่นราคาประหยัดไปจนถึงรุ่นเอาใจเกมเมอร์เงินถัง โดยชิพที่ใช้ชื่อรหัส GK107 จะเป็นรุ่นล่างสุด ราคาประหยัดสุด ซึ่งคาดว่าจะออกมาแทนที่ Geforce 550 แม้ว่าชิพนี้จะใช้กระบวนการผลิต 28 นาโนเมตรเหมือนกับรุ่นอื่นและรองรับ DirectX 11.1 แต่ก็ถูกลดทอนคุณสมบัติไปมาก อย่างเช่น PCI Express ที่รองรับได้เพียงรุ่น 2.0 และบัสของหน่วยความจำ GDDR5 ที่มีเพียง 128 บิต
สำหรับรุ่นที่สูงขึ้นมาอีกขั้นและคาดว่าจะได้รับความนิยมมากสุดในตลาดคือ GK106 ซึ่งจะออกมาแทนที่ Geforce 560 ยอดนิยมในปัจจุบันนั่นเอง สเปคของรุ่นนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำทุกอย่างที่ GK107 ทำได้แล้ว ยังถูกเพิ่มคุณสมบัติ PCI Express 3.0 ยอดนิยม และมีบัสหน่วยความจำมากถึง 256 บิตที่นับว่าเป็นมาตรฐานที่จะทำให้เล่นเกมทุกเกมได้อย่างลื่นไหวภายใต้ความละเอียดและระดับกราฟิกไม่สูงเกินไปนัก

ทว่ารุ่นที่น่าสนใจมากสุดก็คือ GK104 ซึ่งคาดว่าจะมาแทนที่ระหว่าง Geforce 570 และ 580 เดิม โดยรายละเอียดล่าสุดที่ทราบมาคือจะมีแกน CUDA มากถึง 768 ตัว มากกว่า GF114 เดิมถึงสองเท่า จึงทำให้คาดว่าจะมีประสิทธิภาพโดยรวมมากกว่า Geforce 580 เดิมถึงกว่าร้อยละ 50 ทางด้านคุณสมบัติของหน่วยความจำนั้นยังคงมีความก้ำกึ่งว่าจะใช้บัส 256 หรือ 384 บิตกันแน่ รวมทั้งปริมาณที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเท่าไรระหว่าง 1.5-2GB แต่ที่มีความเป็นไปได้สูงคือจะมีความเร็วสัญญาณนาฬิกามากกว่า แน่นอนว่าเมื่อสเปคแรงขึ้น อัตราการใช้พลังงานย่อมสูงตาม (ม่ายยยยยย!) โดยการ์ดรุ่นสูงสุดที่ใช้ชิพนี้คาดว่าอาจมีค่า TDP มากถึง 225 วัตต์เลยทีเดียว แต่ก็ไม่่แน่เราอาจได้เห็นรุ่นน้องรองที่ใช้ชิพเดียวกัน แต่ลดทอนประสิทธิภาพ อัตราการใช้พลังงาน และราคาลงตามออกมา
รุ่นถัดมาที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือ GK110 ซึ่งก็คือชิพ GK104 แบบประกบคู่นั่นเอง (น่าจะใช้ชื่อว่า Geforce 690 ตามธรรมเนียม) ซึ่งแน่นอนว่าประสิทธิภาพและความต้องการใช้พลังงานย่อมสูงตาม แต่จะมากขนาดไหนคงต้องจับมาทดสอบ ส่วนรุ่นสุดท้ายที่คาดว่าจะเป็นตัวแรงที่สุดและแพงที่สุดก็คือ GK112 ซึ่งจะมาพร้อมกับแรม GDDR5 ความกว้างบัส 512 บิตเลยทีเดียว
แล้วจะขายเมื่อไร

คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ คือ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด และข่าวเท่าที่เราทราบตอนนี้ก็ยังกำกวมและยังไม่แน่นอน บ้างก็ว่า NVIDIA จะปล่อยการ์ดรุ่นเล็กออกมาก่อน บ้างก็ว่าจะปล่อยรุ่นใหญ่ออกมาเลย (แต่ผมว่าน่าจะเป็นอย่างหลังเพราะคู่แข่งก็ทำแบบเดียวกัน) สันนิษฐานเบื้องต้นคือเราคงจะเริ่มเห็นการ์ด Geforce 600 ที่ใช้ชิพสถาปัตยกรรม Kepler นี้ได้ตั้งแต่ช่วงที่เพื่อนๆ กำลังอ่านบทความนี้เป็นต้นไปเรื่อยยาวไปถึงช่วงสิ้นปี โดยอาจจะถูกทยอยวางขายทีละรุ่นๆ เมื่อถึงตอนนั้น แน่นอนว่าเพื่อนๆ จะต้องได้เจอผมอีกชัวร์ป๊าบครับ 😀