บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร e-commerce ฉบับที่ 162 ประจำเดือนมิถุนายน 2555
ในอดีต นิยามของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซี (Personal Computer) ได้ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว เพราะถ้าหากว่าเจ้าสมองกลเครื่องนั้นประกอบไปด้วยอินพุทดั้งเดิมอย่างคีย์บอร์ด เมาส์ จอภาพ และเคสใหญ่เทอะทะแล้วล่ะก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือพีซีแน่นอน แต่ในช่วงที่ผ่านมา นิยามดังกล่าวได้เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรมส่งตรงจากห้องแล็บ เราจึงได้เห็นพีซีที่ไม่ต้องใช้งานร่วมกับคีย์บอร์ด แต่อาศัยวิธีการสัมผัส ระบบสั่งการด้วยเสียงกับท่าทางที่ทำงานร่วมกันได้อย่างใหลลื่น และความสามารถในการเข้าถึงไฟล์ข้อมูลในกลุ่มเมฆบนเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ห่างไกล พีซีทุกวันนี้จึงมีขนาดเล็กลง แต่กลับทำงานได้อย่างฉลาดยิ่งกว่า ตอบสนองได้รวดเร็วกว่า และพัฒนาไปไกลกว่าที่หลายคนคาด
อัลตราบุ๊ค สุดยอดสมุดสุดอัจฉริยะ
แน่นอนว่าเทรนด์ของพีซีในปีนี้คงหนีไม่พ้นอัลตราบุ๊ก คอนเซปท์โน้ตบุ๊กบางเบาจาก Intel และพีซีไฮบริจหรือ convertible ที่สามารถแปลงร่างเป็นแท็บเล็ตหรือโน๊ตบุ๊กตามคำนิยามที่ Microsoft ได้ให้ไว้ ปัจจุบันอัลตราบุ๊กกำลังเข้าสู่เฟสสอง ที่ซึ่งโปรเซสเซอร์ภายในจะเริ่มเปลี่ยนไปใช้ Intel Core เจนเนอเรชันสามซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ใช้พลังงานน้อยลง รองรับพอร์ต USB3.0 เพื่อการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็วยิ่งกว่า โดย (หวังว่า) จะมีราคาขายที่ถูกลง และใน ค.ศ. 2013 ก็จะเข้าสู่เฟสสามที่โปรเซสเซอร์ภายในจะได้รับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นไปอีก ใช้พลังงานน้อยลงกว่าเดิม เข้าสู่ตลาดเมนสตรีมในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ และเข้ามาแทนที่โน้ตบุ๊กทั่วไปในที่สุด

ความท้าทายหลักของการพัฒนาคอนเซปต์อัลตราบุ๊กก็คือ จะทำอย่างไรให้ฮาร์ดแวร์ภายในใช้พลังงงานและมีความร้อนน้อยลง ไม่ลดทอนประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว? ซึ่งคำตอบอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างภายในของโปรเซสเซอร์ ซึ่งต้องอาศัยวิศวกรรมการผลิตที่ต้องลดทอนส่วนไม่จำเป็นทิ้งไป รวบรวมชิ้นส่วนวงจรภายในที่เคยทำงานแยกกันเป็นเอกเทศให้มาอยู่ร่วมกัน โดยเข้ากับคอนเซปต์ System on Ship (SoC) เช่นเดียวกับบนอุปกณ์พกพา ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของขนาดที่เล็กลงและใช้พลังงานน้อยกว่า
ราคาขายก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า เพราะด้วยราคาเริ่มต้นราว 30,000 บาท (999 เหรียญสหรัฐ) นั้นจัดว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กธรรมดาและฟังชันที่ถูกลดทอน ไม่ว่าจะเป็นออฟติคัลไครฟ การประมวลผลกราฟิกที่รวดเร็ว หรือฮาร์ดดิสก์ความจุสูง ทำให้ที่ผ่านมาอัลตราบุ๊กยังไม่สามารถเจาะตลาดระดับเมนสตรีมได้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เราจะเริ่มเห็นโมเดลราคาเอื้อมถึงมากขึ้น ทั้งที่เกิดจากการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุน ความรับรู้จากผู้บริโภคที่เกิดจากการโหมโฆษณาจากผู้ผลิตทำให้มีอุปสงค์มากขึ้น ซึ่งตอบรับด้วยการแข่งขันระหว่างแบรนด์ดัง และเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการพีซีที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเฉกเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
Convertible PC นิยามใหม่พีซี พร้อมตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์?
Steve Ballmer ซีอีโอ Microsoft เคยกล่าวไว้ว่า Windows 8 จะเป็นการพนันครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทเคยลงเล่น และจากเท่าที่ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาก็แทบจะกล่าวได้ว่า Windows 8 ได้เปลี่ยนโฉมลักษณ์ไปอย่างสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่แนวคิดที่หวังจะทำให้ระบบปฏิบัติการตัวนี้สามารถใช้งานได้ทั้งกับพีซีและแท็บเล็ต ต่อยอดด้วยอินเทอร์เฟส Metro อันโฉบเฉี่ยวที่รองรับระบบสัมผัสอย่างเต็มรูปแบบ และคอนเซปต์ convertible PC ที่สามารถพลิกแพลงไปมาระหว่างโน๊ตบุ๊กและแท็บเล็ตตามต้องการ ให้สมกับไอเดียเริ่มแรกที่ Microsoft มองว่า “แท็บเล็ตก็คือพีซี” นั่นเอง
ตัวอย่างแนวคิด convertible PC ที่น่าสนใจคือ เมื่องาน Consumer Electronics Show 2012 ที่ผ่านมา Lenovo ได้เปิดตัว IdeaPad Yoga อัลตราบุ๊กหน้าจอ 13 นิ้วพร้อมคีย์บอร์ดที่สามารถหมุนจอได้ 360 องศาพร้อมแปลงโฉมเป็นแท็บเล็ตได้ในทันทีโดยอาศัยอินเทอร์เฟส Metro รวมทั้งแนวคิดอัลตราบุ๊ก Cove Point จาก Intel ซึ่งมีจอสไลด์ที่สามารถเลื่อนลงมาเป็นแท็บเล็ตได้

ถึงแม้จะดูน่าตื่นตา ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยเหตุผลหลักที่มักถูกยกมาเป็นข้อโต้แย้งคือ อัตราการใช้พลังงาน ขนาด และความหนาที่อาจต้องเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายอุปกรณ์พกพาได้เลยทีเดียว แต่ผู้ที่วิจารณ์อุปกรณ์ประเภทนี้ได้อย่างเผ็ดร้อนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Tim Cook ซีอีโอ Apple ที่เปรียบเทียบอุปกรณ์ประเภทนี้ว่า “เหมือนกับนำตู้เย็นและเตาปิ้งขนมปังมารวมกัน! จริงอยู่ที่ในทางเทคนิคสามารถกระทำได้ แต่ก็คงยากที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อหามาใช้”

มุมมองของ Tim Cook นับว่าน่าสนใจ เพราะ Steve Jobs ได้เคยกล่าวไว้ในขึ้นเปิดตัว iPad เมื่อสองปีที่แล้วทำนองว่า สิ่งที่เป็นจุดแข็งของแท็บเล็ตและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จคือต้องสามารถใช้งานบางอย่างได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานบนอุปกรณ์ตัวอื่น ซึ่งสำหรับกรณีของ iPad ก็คือการท่องเว็บ การอ่าน รับชมภาพยนตร์ และรับส่งอีเมล หรือพูดง่ายๆ คือในมุมมองของ Apple นั้น อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งหนึ่งต้องสามารถตอบโจทย์เฉพาะทางได้ดีกว่า ไม่ใช่รู้อย่างเป็ดหรือเป็นจับฉ่ายที่สามารถทำได้ทุกอย่างแต่ไม่ได้เรื่องสักอย่างนั่นเอง อีกทั้งการรับรู้ของผู้บริโภคก็สำคัญ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองว่าแท็บเล็ตถูกออกแบบมาเพื่อ “บริโภค” เนื้อหาเป็นสำคัญ หรือที่เรียกว่าเป็น “ประสบการณ์เอนหลัง” (lean back experience) ซึ่งตรงข้ามกับโน้ตบุ๊กที่ออกแบบมาให้เรา “สร้างสรรค์” เนื้อหา หรือทำงานเป็นหลัก การที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์นี้ได้คงต้องทุ่มทรัพยากรทั้งเวลาและงบประมาณโฆษณาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว
งานหนักหรือ? ยกขึ้นไปบนเมฆซะสิ!
แต่ถึงอย่างไร ประเด็นที่อุปกรณ์พกพารุ่นใหม่ ไม่่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต หรืออัลตราบุ๊คกำลังเผชิญร่วมกันก็คือ ข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ปัจจุบันที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านประสิทธิภาพได้มากพอ รวมทั้งพื้นที่เก็บข้อมูลซึ่งยังมีน้อย ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขในระยะเริ่มแรกด้วยการใช้บริการประเภท Virtualization ซึ่งจะยกหน้าที่การประมวลผลส่วนใหญ่ไปยังเซิร์ฟเวอร์บนกลุ่มเมฆ แล้วสตรีมเนื้อหาที่ได้มายังอุปกรณ์ของเราผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตัวอย่่างที่เห็นได้ชัดคือ OnLive บริการสตรีมมิ่งเกมและโปรแกรมบนเดกส์ท้อปเดิมอย่าง Office ไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ของเรา รองรับทั้งเน็ตบุ๊กและแท็บเล็ต ทำให้ข้อจำกัดด้านซอฟท์แวร์ที่รองรับลดน้อยลงไปบ้าง แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม
แต่ดูเหมือนว่าบริการบนกลุ่มเมฆที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วไปที่สุดก็คือ พื้นที่เก็บไฟล์ออนไลน์ที่นับวันจะมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยพื้นฐานแล้วบริการประเภทนี้จะมอบพื้นที่ฟรีจำนวนหนึ่งซึ่งผู้ใช้สามารถอัปโหลดสารพันไฟล์ดิจิตัลขึ้นไปเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารทั่วไป รูปภาพ หรือไฟล์มีเดียต่างๆ โดยที่ระบบจะซิงค์ข้อมูลเหล่านี้โดยอัตโนมัติผ่านอิินเทอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์ทั้งหลายที่เรามี ทั้งพีซีเดสก์ท้อป โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้เหมือนกับว่าเรามีฮาร์ดดิสก์ติดตัวไปด้วยทุกที่
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการดังกล่าวหลากหลายมาก ซึ่งแต่ละรายก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ทั้ง Dropbox ที่อยู่มานาน Skydrive จาก Microsoft ที่เพิ่งเห็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจในระยะหลัง และล่าสุดกับ Google Drive จากเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ที่หวังเข้ามากินส่วนแบ่งจากเค้กก้อนโต โดยใช้จุดแข็งด้านการรวมเข้ากับบริการออนไลน์อื่นของตนอย่าง Docs ได้อย่างแนบเนียน

Microsoft ได้เคยให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในอนาคตคำว่า “พีซี” (PC) อาจไม่ได้ย่อมาจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แต่อาจย่อมาจาก “กลุ่มเมฆส่วนบุคคล” (Personal Cloud) เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเราสามารถแบ่งบริการบนกลุ่มเมฆได้เป็นสามประเภทด้วยกัน เริ่มจาก 1) file clouds หรือพื้นที่เก็บไฟล์อย่าง Dropbox หรือ SkyDrive ที่ได้แนะนำไป 2) device clouds บริการกลุ่มเมฆที่จะทำงานอยู่เบื้องหลังอุปกรณ์หลากประเภทซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลสำคัญช้ามไปมาระหว่างอุปกรณ์เหล่านั้นโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น iCloud จาก Apple และสุดท้ายคือ app clouds บริการแอปพลิเคชันที่ต้องพื่งพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์อย่างเช่น Evernote เป็นต้น
อินเทอร์เฟสใหม่ เมื่อระบบสัมผัสเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
ปฏิิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุที่อุปกรณ์พกพามีเสียงตอบรับอย่างล้นหลามก็เพราะส่วนใหญ่แล้วมาพร้อมกับระบบสัมผัสที่ใช้งานง่าย ในอดีตอินพุตเดียวที่พีซีสามารถรองรับได้คือเมาส์และคีย์บอร์ด ซึ่งเปรียบเหมือนกับเป็นกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างพีซีกับผู้ใช้ที่ต้องตะกายขึ้น แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ระบบติดต่อผู้ใช้ได้ถูกพัฒนาให้ทำงานสะดวกขึ้นมาก สามารถตอบสนองได้โดยทันทีโดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก่อน เราจึงได้เห็นคลิปเด็กอมมือหรือผู้สูงอายุนั่งจิ้มแท็บเล็ตอย่างสนุกสนานเกลื่อน Youtube ไปหมด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะนั่นหมายความว่า “ช่องว่างดิจิตัล” (digital divide) ในอนาคตมีแนวโน้มหดแคบลง เปิดโอกาสให้ใครๆ ก็บริโภคเนื้อหาอินเตอร์แอคทีฟได้โดยไม่มีการแบ่งชนชั้นด้วยวิธีการใด การที่อุปกรณ์พกพาสามารถตอบโจทย์ความง่ายในการใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยมนี่เองที่ทำให้ Microsoft ตัดสินใจพัฒนาอินเตอร์เฟส Metro ให้กับ Windows 8 และ Apple นำบางฟังชั่นของ iOS มาใส่ไว้ใน OS X นับตั้งแต่เวอร์ชัน Lion เป็นต้นมา
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอินเตอร์เฟสในอนาคตจะเป็นการรวมตัวกันระหว่างหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสั่งด้วยเสียง สัมผัส และท่าทาง Apple มี Siri ที่ไม่เพียงแต่สามารถรับคำสั่งจากเสียงพูดได้ แต่ยังสามารถตีความคำพูดเพื่อตอบโจทย์ของคำถามได้อย่างถูกต้อง Microsoft มี Kinect อุปกรณ์เล่นเกมด้วยท่าทาง ส่วน Google ก็เพิ่งจะโชว์ตัว Project Glass แว่นอัจฉริยะที่ผนวกคุณสมบัติ Augmented Reaility เข้ากับบริการ location-based และสามารถสั่งการได้เพียงใช้สายตาเท่านั้น!

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่อินเทอร์เฟสแบบใหมต้องเผชิญก็มีอยู่มิใช่น้อย เริ่มจากระบบสัมผัสเองที่ถึงแม้จะใช้งานได้ง่าย แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเหมาะกับอุปกรณ์พกพาเท่านั้น และเมื่อนำมาใช้งานกับเดส์ท้อปก็ไม่มีเสียงตอบรับดีเท่าที่ควร เพราะโดยธรรมชาติเราไม่สามารถยกแขนไปจิ้มจอภาพนานๆ ได้เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้า รวมทั้งงานพิมพ์ที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรเข้ามาแทนที่คึย์บอร์ดจริงๆ ได้เสียที และที่สำคัญคือการออกแบบทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์นั้นต้องเข้ากันกับระบบสัมผัสตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เป็นเพียงลูกเล่นเสริมสร้างจุดขายเหมือนกับที่ผ่านมา ส่วนระบบสั่งด้วยเสียงก็ยังคงต้องพัฒนากันอีกไกล เนื่องจากเฉพาะเพียงภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็มีหลายสำเนียงพูดแล้ว มิพักต้องพูดถึงภาษาอื่นอีกที่มีอยู่ร่วมร้อย ซึ่งสุดท้ายต้องอาศัยพื้นที่และกำลังในการประมวลผลมหาศาล สำหรับการสั่งด้วยท่าทางและสายตานั้นก็ยังมีข้อจำกัดด้านความแม่นยำ รวมทั้งฮาร์ดแวร์กับซอฟท์แวร์รองรับที่ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะเรียกความสนใจ
อนาคตของพีซีสามารถมองออกได้เป็นสองทาง ทางแรกคือต่อไปอุปกรณ์ทุกอย่างจะถูกรวมมาไว้ภายใต้หลังคาเดียวกัน สามารถแปลงกลับไปมาได้ระหว่างโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต พร้อมฟังชั่นต่อออกจอใหญ่เพื่อใช้งานต่างเดสก์ท้อปได้ตามต้องการ ส่วนทางที่สองคือเราจะยังคงเห็นอุปกรณ์แยกประเภทชัดเจนอยู่อย่างเช่นในปัจจุบัน โดยแต่ละอย่างจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะทางได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ความเป็นไปได้ของทั้งสองทางก็ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือ อุปกรณ์ในยุคหน้าตั้งมีขนาดกระทัดรัด พกพาสะดวก เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่เก็บข้อมูลเพราะทุกอย่างจะถูกยกไปไว้ในกลุ่มเมฆ ที่สำคัญคือต้องใช้งานได้ง่าย ระบบอินพุทไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคีย์บอร์ดกับเมาส์อีกต่อไป แต่จะมีการสั่งด้วยเสียงพูด ระบบสัมผัส ท่าทาง และกระทั่งสายตา
สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับว่าจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ให้เต็มที่ได้อย่างไร