ช่วงสิ้นปีทีไรมักมีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับวงการไอทีแทบทุกปี สำหรับในตลาดโปรเซสเซอร์เราก็ได้เห็นการเปิดตัว AMD Trinity เอพียูทายาท Llano ที่ปัจจุบันขึ้นแท่นโปรเซสเซอร์สุดยอดแห่งความคุ้มค่าคุ้มราคาไปแล้ว ส่วนฟาก Intel เราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างการเปิดตัว Haswell ชิพ Intel Core รุ่นที่สี่ถัดจาก Ivy Bridge ซึ่งจะออกมาลืมตาดูโลกในปีหน้า ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ปัจจุบันอุปกรณ์พกพาจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่บรรดาผู้ผลิตต่างก็ยังไม่ทิ้งตลาดพีซีเดิมที่หากินมานาน
เชื่อขนมกินเลยว่าแฟนบอย AMD คงไม่มีใครไม่รู้จักสถาปัตยกรรม Bulldozer ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วและวางจำหน่ายในรูปแบบโปรเซสเซอร์ AMD FX ซึ่งออกมาแทนที่ซีรีส์ Phenom อันคุ้นเคย ในแง่การออกแบบต้องยอมรับว่า AMD มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เล่นกับโปรเซสเซอร์รุ่นนี้ เพราะมีการนำระบบโมดูลมาใช้งานแทนที่ปรัชญาการออกแบบแกนประมวลผลเดิม แต่ในแง่ของการนำมาใข้งานนั้นต้องถือว่าสอบตก เพราะโดนชิพคู่แข่งตีกระจุยไม่มีเหลือ แถมบางการทดสอบยังช้ากว่าชิพ Phenom เดิมซะด้วยซ้ำ แต่มาปี 2012 นี้ AMD ขอแก้เกมก่อนโลกแตกด้วยสถาปัตยกรรม Piledriver ตามที่จะนำมาพรีวิวกันในวันนี้ครับ
โครงสร้างภายในและความต่างในแต่ละรุ่น

โปรเซสเซอร์ AMD FX รุ่นที่สองหรือที่มีชื่อเล่นว่า Vishera นี้ยังคงใช้กระบวนการผลิตที่ 32 นาโนเมตรเช่นกับ AMD FX รุ่นแรก แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือการหันมาใช้แกนประมวลผล Piledriver ซึ่งเป็นรุ่นพัฒนาต่อยอดมาจาก Bulldozer แม้ว่าจะเป็นรุ่นใหม่แต่โครงสร้างภายในโดยภาพรวมนั้นยังไม่มีความแตกต่างจากรุ่นเดิมมากนัก กล่าวคือแกนประมวลผลภายในยังคงถูกจับกลุ่มในรูปแบบโมดูล โดยแต่ละโมดูลนั้นก็จะประกอบไปด้วยแกนประมวลผล AMD64 สองแกน จึงทำให้โปรเซสเซอร์รุ่นที่มีโมดูลสองชุดจะมีแกนประมวลผลสี่แกน สามชุดหกแกน และสี่ชุดแปดแกนประมวลผล ตามลำดับ นอกจากนั้นก็ยังมีวงจรควบคุมหน่วยความจำภายในอีกด้วยตามระเบียบ
แม้ว่าจะฟังดูมีประสิทธิภาพมากมายมหาศาล แต่ลักษณะการออกแบบเช่นนี้มีข้อจำกัดตรงที่แต่ละแกนประมวลผลภายในโมดูลนั้นต้องแบ่งปันใช้ทรัพยากรร่วมกัน อาทิ ส่วน front-end ซึ่งทำหน้าที่อ่านชุดคำสั่ง (fetch) และตีความชุดคำสั่ง (decode) ส่วนคำนวณจุดลอยตัว (floating-point unit) ส่วน data-prefetch ที่ทำให้การเรียกใช้งานข้อมูลครั้งต่อไปทำได้รวดเร็วมากขึ้น และแคช L2 กับ L3 เป็นต้น แต่การออกแบบลักษณะนี้ก็ยังนับว่ามีข้อดีอยู่บ้างตรงที่มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถเพิ่มปริมาณแกนประมวลผลไปได้มากโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเนื้อที่

ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ AMD ได้เปิดตัวชิพตระกูลนี้ออกมาทั้งหมด 4 รุ่น โดยจะมีสองรุ่นที่มีแกนประมวลผลแปดแกน ส่วนอีกสองรุ่นนั้นมีแกนประมวลผลหกและสี่แกนตามลำดับ โดยรุ่นบนสุดก็คือ AMD FX-8350 ซึ่งมีแกนประมวลผลแปดแกน วิ่งที่ความเร็ว 4GHz สามารถเร่งความเร็วในโหมด Turbo Core ที่ 4.2GHz มีแคช L2 และ L3 8MB เท่ากัน และมีค่า TDP 125 วัตต์ ส่วนรุ่น FX-8320 นั้นมีความเหมือนกับรุ่นบนทุกประการ แต่ลดความเร็วเริ่มต้นเหลือที่ 3.5GHz และ 4.0GHz ในโหมด Turbo Core
ถัดลงมาเราก็จะเจอรุ่น FX-6300 ซึ่งมีแกนประมวลผลหกแกน มีความเร็วเริ่มต้น 3.5GHz และ 4.1GHz ในโหมด Turbo Core มีแคช L2 6MB ตามปริมาณแกนประมวลผลที่ลดลง แต่ยังมีแคช L3 เท่าเดิมที่ 8MB และมีค่า TDP เพียง 95 วัตต์
ส่วนน้องสุดท้องนั้นมีชื่อรุ่นว่า FX-4300 ซึ่งมีแกนประมวลผลสี่แกนวิ่งที่ความเร็วเริ่มต้น 3.8GHz และ 4.0GHz ในโหมด Turbo Core มีแคช L2 และ L3 เท่ากันที่ 4MB และมีค่า TDP 95 วัตต์

Turbo Core 3.0
นับเป็นฟีเจอร์ยอดฮิตที่โปรเซสเซอร์สมัยนี้ต้องมี ถึงแม้จะมีชื่อเรียกต่างกันไปบ้างแต่คุณลักษณะหลักๆ ก็คือเป็นวิธีการเพิ่มความเร็วการประมวลผลของโปรเซสเซอร์ให้มากกว่าที่ผู้ผลิตกำหนดตามสเปคโดยอัตโนมัติ ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น กำลังงานที่ต้องการ และแรงดันไฟเป็นต้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นระบบออโต้โอเวอร์คล็อกที่รับประกันได้ว่าปลอดภัยกว่าทำเองแน่นอน
AMD ได้เพิ่มระบบ Turbo Core เป็นครั้งแรกในชิพ AMD Phenom II x6 ที่มีแกนประมวลผลหกแกน และรุ่นถัดมาก็ได้รับมรดกตกทอดต่อกันมาเรื่อยจนปัจจุบันก็ได้รับการพัฒนาไปถึงเวอร์ชัน 3 ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ได้จะต้องดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม
รองรับแรม DDR3 1866MHz
แน่นอนว่าสิ่งที่ชิพ AMD FX เพิ่มมาตั้งแต่รุ่น Bulldozer ก็คือการรองรับแรม DDR3 ดูอัลแชนแนลที่ความเร็ว 1866MHz ซึ่งนับว่าสูงมากและจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่าจะเป็นการเพิ่มเนื้อที่แบนวิธให้กับหน่วยความจำและช่วยลดอาการคอขวดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรับส่งข้อมูล แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องโยนแรมเก่าทิ้งแล้วซื้อใหม่นะครับ เพราะตัวชิพยังรองรับแรมรุ่นความเร็วต่ำกว่าเช่นเดิม นอกจากนั้นแรมที่มีความเร็วขนาดนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าเป็นธรรมดา
ซ็อกเก็ต AM3+ และชิพเซ็ตที่คู่ควร
น่ายินดีที่โปรเซสเซอร์รุ่นนี้ยังคงใช้งานร่วมกับซ็อกเก็ต AM3+ และชิพเซ็ตซีรีส์ 900 ทำให้ผู้ที่ใช้งานชิพ Bulldozer อยู่แล้วไม่ต้องเสียเงินซื้อเมนบอร์ดใหม่ แต่อาจก็ต้องมีการอัปเดตไบออสบ้างตามระเบียบ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีเมนบอร์ดชิพเซ็ตซีรีส์ 800 อยู่แล้วจะไม่สามารถใช้งานได้นะครับ แต่คงต้องตรวจสอบกับทางเว็บไซต์ผู้ผลิตอีกทีหนึ่งว่ามีการอัปเดตระบบให้รองรับหรือไม่
ในชิพเซ็ตซีรีส์ 900 ทั้งหมดนั้นคงไม่มีรุ่นใดจะมีประสิทธิภาพเกินรุ่น AMD 990FX ไปได้เพราะได้รับการออกแบบมาให้มีลูกเล่นมากสุด และเหมาะกับพวกฮาร์ดคอร์ที่ชอบการปรับแต่ง ตามโครงสร้างแล้วชิพตัวนี้จัดว่าเป็นชิพ Northbridge ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับเป็นศูนย์ควบคุมประสานงานระหว่างโปรเซสเซอร์ หน่วยความจำ และ PCI Express link ที่เชื่อมกับการ์ดกราฟิก และเนื่องจากเป็นรุ่นระดับบนจึงทำให้ชิพเซ็ตตัวนี้รองรับการเชื่อมต่อกับการ์ดกราฟิกได้หลากหลายมากที่สุด โดยรองรับความเร็ว x16 เต็มเมื่อต่อการ์ดหนึ่งกับสองตัว และจะลดลงเหลือ x8 เมื่อเชื่อมต่อการ์ดทั้งหมดสี่ตัว ขณะที่รุ่นรองลงมาอย่าง 990X สามารถรองรับความเร็วที่ x8 เมื่อเชื่อมต่อการ์ดสองตัว ส่วนรุ่น 970 รองรับการเชื่อมต่อการ์ดกราฟิกเพียงหนึ่งตัวที่ความเร็ว x16 ครับ
สำหรับชิพ Southbridge ที่มาด้วยกันก็คือ SB950 ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ค่อยมีอะไรอัปเดตเพิ่มเติมจากรุ่น SB7x0 และ SB8x0 มากนัก โดยหน้าที่หลักของชิพตัวนี้ก็คือควบคุมการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ ชิพเสียง และพอร์ต USB เป็นต้น แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่ารุ่นใหม่ก็ต้องรองรับการเชื่อมต่อ SATA 6Gb/s ตามระเบียบ พร้อมกับสามารถเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB 2.0 ที่มีให้ได้มากสุดถึง 14 ช่อง แต่น่าเสียดายที่ไม่รองรับ USB 3.0 ในตัว ผู้ผลิตเมนบอร์ดจึงต้องพึ่งชิพจากค่ายอื่นแทนครับ
สรุป

การกลับมาทวงบัลลังก์ในครั้งนี้ของ AMD นับว่าต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากคู่แข่งที่มีโปรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูงราคาไม่แพงออกมาตีตลาดอยู่เป็นระยะ ปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่นับวันผู้คนจะหันไปใช้งานอุปกรณ์พกพามากขึ้น รวมทั้งการแย่งตลาดโดยผลิตภัณฑ์อื่นของตัวเอง อาทิ เอพียูที่มีราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป
นี่จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ชิพ Piledriver นี้เหมาะกับใคร? แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นต้องเป็นแฟนบอย AMD ที่ให้ตายก็ไม่มีวันหนีไปใช้อีกค่าย ผู้ที่ใช้ชิพ Bulldozer อยู่แล้วและมีเงินเหลืออยากอัปเดตเป็นรุ่นใหม่ และแน่นอนเกมเมอร์ที่มีงบประมาณปานกลางแต่อยากได้ชิพประสิทธิภาพสูง มีหลายแกนประมวลผล และมี GHz สูงๆ น่ายินดีที่การทดสอบเบื้องต้นพบว่าเจ้า Piledriver นี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า Bulldozer ราว 15% และจะยิ่งอาละวาดหนักขึ้นเมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรมที่ออกแบบมาสำหรับโปรเซสเซอร์หลายแกนประมวลผล เพราะฉะนั้นใครที่อยู่ในกลุ่มที่ว่าชิพ FX รุ่นสองคืออาวุธคู่กายของท่านครับ