บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Future Gamer ฉบับที่ 228 ประจำเดือนตุลาคม 2558
แทบไม่น่าเชื่อว่าหลังจากการเปิดตัวชิพ Broadwell หรือ Core รุ่นที่ห้าไม่ทันไร Intel ก็รีบตอกย้ำความเป็นผู้นำของวงการด้วยการส่ง Skylake ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกนำมาใช้ใน Core รุ่นที่หกเข้าสู่ตลาด จุดเด่นของชิพนี้คือได้รับการขับเคลื่อนด้วยสถาปัตยกรรมใหม่ และยังคงกระบวนการผลิตไว้ที่ 14 นาโนเมตร แต่หากจะเรียกมันว่า Broadwell เวอร์ชันอัปเกรดก็ดูเหมือนจะดูถูกกันเกินไปสักนิด เพราะ Skylake ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับชิพเซ็ตใหม่ นั่นคือ Intel 100 Series ที่หลายท่านอาจคุ้นเคยกันไปบ้างแล้ว เพราะได้มีเมนบอร์ดวางจำหน่ายมาระยะหนึ่ง การมาพร้อมกับชิพเซ็ตใหม่ไม่ได้หมายเพียงถึงประสิทธิภาพที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งคุณลักษณะใหม่ๆ ที่จะมาช่วยเพิ่มความเหนือชั้นให้กับระบบโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน รายละเอียดกราฟิกอันน่าตื่นตา การออกแบบที่ยืดหยุ่น ตลอดจนประสบการณ์ใช้งานใหม่เมื่อจับประกบคู่กับ Windows 10 ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกที่ Intel จะเรียก Skylake ว่าโปรเซสเซอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
หลากหลายจากหนึ่งเดียว

Intel กล่าวว่า Skylake คือสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับขนาด (scale) ได้ยืดหยุ่นที่สุดเท่าที่เคยได้รับการพัฒนา โดยมันได้รับการนำไปใช้กับ form factor ที่หลากหลายเพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์อันหลายหลากของยูสเซอร์ยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น compute sticks หรือคอมพิวเตอร์อัดแท่งพร้อมใช้ แท็บเล็ต แล็ปท็อป ultra-thin ที่แปลงร่างเป็นแท็บเล็ตหรือถอดแยกจากคีย์บอร์ดได้ อัลตราบุ๊ค แล็ปท็อปทั่วไป ไปจนถึงเดสก์ท็อปแบบ All-in-One (AiO) มินิเดสก์ท็อป เวิร์คสเตชัน และคอมพิวเตอร์สำหรับเกมเมอร์ จึงทำให้โดยรวมแล้วจะมีโปรเซสเซอร์ที่ใช้สถาปัตยกรรม Skylake กว่า 48 ชิ้น วางจำหน่ายทั้งกับผู้บริโภคทั่วไปและสำหรับองค์กร
สถาปัตยกรรม Skylake ที่นำมาใช้กับโปรเซสเซอร์ Intel Core รุ่นที่หกนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงสี่ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมอบโปรเซสเซอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลทั่วไปและกราฟิกอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง และการตอบสนองอย่างรวดเร็วบนคอมพิวเตอร์ที่ใช้พลังงานต่ำและไร้พัดลมระบายความร้อน (fanless) แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถปรับขนาดไปใช้กับคอมพิวเตอร์เวิร์คสเตชันและเดสก์ท็อปประสิทธิภาพสูงสำหรับเกมเมอร์ได้ด้วย ผลที่ได้รับคือชิพบางรุ่นมีประสิทธิภาพกราฟิกที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ประหยัดพลังงานดีขึ้นกว่าร้อยละ 60 แล้วยังรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียด 4K ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย

นอกจากประสิทธิภาพโดยรวมจะดีขึ้นแล้ว Skylake ยังนำเสนอความสามารถใหม่ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะในส่วนของการประมวลผลกราฟิกที่ได้รับการออกแบบให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดพลังงานยิ่งกว่า และใช้ประโยชน์จาก Windows 10 ได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นมันจึงมาพร้อมกับซีรีส์วงจรประมวลผล Intel 500 (ประกอบด้วย Intel HD graphics, Iris graphics และ Iris Pro graphics แล้วแต่รุ่นของโปรเซสเซอร์) ตลอดจนคุณลักษณะใหม่ๆ เช่นการรองรับ DirectX 12 เป็นต้น และนอกจากนี้ ชิพ Core M ก็ยังได้รับการซอยย่อยรุ่นออกเป็น Intel Core m3, m5 และ m7 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกโปรเซสเซอร์ที่เหมาะกับการใช้งานได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
คุณประโยชน์เด่นๆ ของโปรเซสเซอร์ Intel Core รุ่นที่หก
แม้ว่าสถาปัตยกรรม Skylake จะมีการนำไปใช้กับโปรเซสเซอร์หลายรุ่น แต่ซีรีส์ที่ยูสเซอร์ทั่วไปคุ้นเคยกันดีคงหนีไม่พ้น Intel Core เพราะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเดสก์ท็อปและแล็ปท็อปที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ใช้กัน เพราะฉะนั้นผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้กล่าวถึงความสามารถใหม่ๆ เสียหน่อยนะครับ
Intel กล่าวว่าโปรเซสเซอร์ Core รุ่นหกได้รับการออกแบบให้ดึงศักยภาพของกระบวนการผลิต 14 นาโนเมตร มาใช้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้รับการออกแบบให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 3D transistors ล่าสุดที่ใช้พลังงานน้อยกว่า และด้วยปริมาณที่มากกว่าจึงทำให้ประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในด้านกราฟิกและมีเดีย แต่กลับยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี Speed Shift ที่มาพร้อมกันนั้นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการเปลี่ยนสถานะการใช้พลังงานของโปรเซสเซอร์จากโหมดประหยัดพลังงานเข้าสู่โหมดเร่งสปีดเต็มพิกัดได้อย่างรวดเร็ว
พูดถึงการประหยัดพลังงานแล้วก็ขอรบกวนพื้นที่ท่านผู้อ่านอีกสักย่อหน้า เพราะ Intel ได้พัฒนาคุณลักษณะดังกล่าวให้กับชิพทุกรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่โปรเซสเซอร์ Intel Core รุ่นที่หกเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้พลังงานที่น้อยลง แต่ด้วยเทคโนโลยีการจัดการพลังงานและการออกแบบใหม่ ประกอบกับสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้กระบวนการผลิต 14 นาโนเมตร จึงทำให้แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนโดยโปรเซสเซอร์ Intel Core m มีความบางและเบากว่า และสามารถใช้งานได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมง อีกด้วย
นอกจากประสิทธิภาพในการประมวลผลและการจัดการพลังงานที่ดีขึ้นแล้ว หนึ่งในคุณลักษณะเด่นอีกประการก็คือความสามารถในการประมวลผลกราฟิกที่ได้รับการพัฒนามากขึ้น ข้อมูลจาก Intel ระบุว่าส่วนประมวลผลกราฟิก Intel Series 500 ใหม่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลกราฟิกที่ดีขึ้นถึงกว่าร้อยละ 40 สามารถแปลงไฟล์ 4K ได้เร็วขึ้นกว่าร้อยละ 20 และด้วยการที่มันมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์เฉพาะที่มาช่วยแบ่งเบาภาระการเล่นไฟล์ 4K นั้นก็ทำให้ผู้ชมสามารถดื่มด่ำกับประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ระดับสุดยอดขณะที่ใช้พลังงานน้อยกว่าโปรเซสเซอร์รุ่นก่อนหน้า ทรัพยากรที่เหลือมากมายทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์จากผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังรองรับความสามารถในการเล่นเกมที่หลากหลายขึ้น รวมทั้ง DirectX 12 ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการเล่นเกม ตลอดจนยังใช้พลังงานน้อยกว่า จึงทำให้เกมเมอร์เล่นเกมได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้นจากแล็ปท็อป
โปรเซสเซอร์ Intel Core รุ่นที่หกได้รับการออกแบบให้สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ใช้งานที่ดีให้กับยูสเซอร์ทั้งในวันนี้และวันหน้า เพราะรองรับทั้งเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สาย การรักษาความปลอดภัยใหม่ที่ผู้ใช้ไม่ต้องจำรหัสผ่าน และส่วนประสานงานที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้และเป็นธรรมชาติมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Intel RealSense และ Windows 10 เพราะมันจะช่วยในการปลดล็อคคอมพิวเตอร์ได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องจำและคีย์รหัสผ่านอีกต่อไป นอกจากนี้ Intel ยังได้เปิดตัว RealSense Camera (R200) ที่นำมาใช้กับโน้ตบุ๊กแบบถอดแยกคีย์บอร์ด (detachable) บางรุ่น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้สามารถใช้คุณลักษณะใหม่ๆ อย่างการสแกนแบบสามมิติ การวัดและจับความลึก ตลอดจนการถ่ายวิดีโอและภาพถ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับการเชื่อมต่อนั้นก็ได้รับการพัฒนาไปอย่างไม่น้อยหน้า เพราะมาพร้อมกับเทคโนโลยี Intel Wireless Display (WiDi), Intel Pro WiDi และ WiGig ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อแบบไร้สายสามารถทำได้โดยง่าย แต่สำหรับใครที่ต้องการความเร็วกว่านั้น โปรเซสเซอร์ใหม่นี้ก็รองรับมาตรฐานการเชื่อมต่อยุคหน้าอย่าง Thunderbolt 3 ที่สามารถใช้งานร่วมกับพอร์ต USB Type-C ได้ที่ความเร็ว 40 Gbps (เร็วกว่า USB 3.0 ถึงแปดเท่า) ทำให้คอมพิวเตอร์ในยุคหน้าอาจไม่ต้องมีพอร์ตหลายช่องให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะพอร์ตเดียวสามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับดีไวซ์ภายนอก จอมอนิเตอร์ หรือด็อกกิ้งต่างๆ
Skylake + Windows 10 = ประสบการณ์พีซียุคหน้า
Intel ได้จับมือกับ Microsoft ในการพัฒนาโปรเซสเซอร์ Intel Core รุ่นที่หกให้รองรับคุณลักษณะใหม่ๆ ของ Windows 10 ได้อย่างเต็มรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น Windows Hello และ Intel RealSense Camera ที่ช่วยให้การระบุตัวตน (authentication) และล็อคอินเข้าสู่ระบบเป็นเรื่องง่ายผ่านเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า (facial recognition) ผู้ใช้จึงไม่จำเป็นต้องจำรหัสผ่านให้ปวดหัว นอกจากนี้ Cortana ผู้ช่วยดิจิทัลก็ยังได้รับประโยชน์จากการใช้งานโปรเซสเซอร์ใหม่นี้ด้วยการนำฮาร์ดแวร์มาประมวลผล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น

สรุป
สถาปัตยกรรม Skylake ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ยุคหน้าโดยแท้ เพราะมันสามารถปรับขนาดไปใช้ได้กับทั้งคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไปจนถึงเดสก์ท็อปขนาดใหญ่ การออกแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้พลังงานน้อยกว่านั้นได้ช่วยทลายข้อจำกัดด้านความบางและเบาของคอมพิวเตอร์พกพา ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ส่วนการรองรับคุณสมบัติใหม่ใน Windows 10 นั้นก็แสดงให้เห็นทิศทางการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ที่จะไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้สามารถดึงประโยชน์ของกันและกันออกมาได้อย่างสูงสุดนั่นเอง