ปีที่แล้วนับได้ว่าเป็นปีโดนหมีตะปบของวงการสินทรัพย์ดิจิทัลโดยแท้ เห็นได้ชัดจากมูลค่าของคริปโตเคอเร็นซีกับโทเคนดิจิทัลหลายรายการที่ปรับลดลงกว่าร้อยละ 80 – 90 ทำให้นักลงทุนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในช่วงตลาดขาขึ้นต่างขาดทุนกันถ้วนหน้า และมีไม่น้อยที่ยกธงขาวแล้วถอนตัวออกจากวงการไป
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ประเทศไทยก็เข้าสู่ฤดูร้อนเป็นที่เรียบร้อย แต่ความเคลื่อนไหวในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัลกลับไม่ร้อนแรง ไม่หวือหวา และไม่มีประเด็นตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งตามสื่อกระแสหลักมากนัก แต่หากแหวกม่านดูจะพบว่า ปีนี้เป็นปีที่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมีหลายประเด็นที่ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานให้กับอุตสาหกรรมนี้เตรียมพร้อมพุ่งทะยานต่อไป
ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ก่อนที่เราจะเข้าสู่ประเด็นน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ผมขอทบทวนประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วสักนิด เริ่มจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการพัฒนา dapp (decentralized application) บนบล็อคเชน 2 รายใหญ่ ได้แก่ Tron กับ EOS ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกจับตามองว่าจะมาเป็น “ผู้พิชิต” Ethereum แต่หากนับจำนวน dapp ของแต่ละแพลตฟอร์มจะพบว่า Ethereum ยังคงครองความเป็นจ้าว ด้วยจำนวน dapp กว่า 2,000 รายการ ขณะที่ EOS มีอยู่ 200 กว่ารายการ และ Tron มีเพียงประมาณเกือบ 190 รายการเท่านั้น
ทิศทางการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ICO (Initial Coin Offering) ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนเช่นกัน แม้ว่าในภาพรวมแล้วปี 2561 จะเป็นปีที่มีโครงการ ICO เกิดขึ้นมากกว่าปี 2560 (ยอดรวม 2,284 โครงการในปี 2561 เมื่อเทียบกับยอดรวม 996 โครงการในปี 2560) แต่โครงการส่วนใหญ่เปิดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี และค่อยลดน้อยลงเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่เข้าสู่ภาวะซึมยาว ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่กล้าเข้าไปลงทุน และอีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการควบคุมอย่างเข้มงวดของหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องการปกป้องนักลงทุน ทำให้ ICO ใหม่เกิดขึ้นได้ยาก
ประเด็นสุดท้ายที่ต่อเนื่องกันคือ เมื่อปีที่แล้วได้เกิด stablecoin หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่อ้างอิงมูลค่ากับสินทรัพย์จริง อาทิ Gemini Dollar (GUSD) จากบริษัท Gemini Trust Company ของสองพี่น้องฝาแฝด Winklevoss ที่อ้างอิงมูลค่ากับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และ Tiberius Coin (TCX) จาก Tiberius Group AG บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์และค้าขายสินค้าโภคภัณฑ์จากสวิตเซอร์แลนด์ ที่อ้างอิงมูลค่าจากโลหะมีค่าอย่างทองคำ ทองแดง และอลูมิเนียม ฯ
ประเด็นน่าจับตาในปีนี้
หากปีที่แล้วคือปีที่สร้างความสับสนให้กับตลาดอย่างหนัก ปีนี้คงเป็นปีที่ตลาดเริ่มตั้งสติและหันมาให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมน้องใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบที่จะเป็นการกำหนดว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ด้านระบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้บล็อคเชนรองรับการธุรกรรมจำนวนมากด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ รวมไปถึงการเข้ามาของนักลงทุนสถาบันที่จะทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น
ประเด็นแรกคือ การพัฒนาโครงการบล็อคเชนใหม่จะให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นการวาดฝัน หรือโฆษณาหลอกลวงว่าจะได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ อันเป็นสาเหตสำคัญที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามากวดขันอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่าง Walmart ได้ประกาศว่าจะนำบล็อคเชนมาใช้ในการติดตามแหล่งที่มาของสินค้า เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลภายในได้ ขณะที่ Amazon ก็วางแผนเพิ่มคุณสมบัติรองรับบล็อกเชนสำหรับลูกค้า AWS ให้สามารถนำประโยชน์ของฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ไปใช้ได้ในโครงการของตัวเอง ส่วน Facebook ก็แสดงความสนใจที่จะพัฒนาคริปโตเคอร์เรนซีสำหรับใช้ในแพลตฟอร์มของตนซึ่งรวมถึง WhatsApp และ Instagram ด้วย
นอกจากเราจะได้เห็นการนำบล็อกเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว ตลาดคู่ขนานที่มาแรงไม่แพ้กันและมีแนวโน้มจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวได้มากที่สุดก็คือ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things) โดย Statista ได้คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอุปกรณ์ IoT ใช้งานทั่วโลกถึง 2.6 หมื่นล้านชิ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป ส่วนสาเหตุที่เทคโนโลยีบล็อกเชนเหมาะกับอุปกรณ์ IoT ก็เพราะความเป็นฐานข้อมูลกระจายศูนย์ทำให้นักเจาะระบบทำงานได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงมากจึงจะสามารถเข้าไปป่วนระบบได้ และด้วยความที่ข้อมูลในอดีตจะคงอยู่ตลอดกาลนั้นทำให้สะดวกต่อการเก็บบันทึกการใช้งาน (log) การติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมอีกด้วย
จากการที่บล็อกเชนมีแนวโน้มเข้ามาป่วน (disrupt) ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการเงิน นักลงทุนสถาบันและหน่วยงานกำกับดูแลจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้ และพร้อมปรับตัวก่อนที่จะสายเกินไป ยกตัวอย่างประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทดลองโครงการ “อินทนนนท์” ซึ่งเป็นระบบบล็อกเชนสำหรับใช้ในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยการใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออก ซึ่งผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ระบบนี้มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน ทั้งการลดต้นทุนและการบริหารจัดการสภาพคล่อง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อยู่ในระหว่างการศึกษาการระดมทุนด้วยวิธี STO (Security Token Offering) เพื่อนำไปสู่การออกกฎระเบียบที่เหมาะสมต่อไป
กล่าวถึงด้านการลงทุนแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์มูลค่าสูงได้ง่ายขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนรายย่อยมีทางเลือกในการลงทุนไม่มากนัก เพราะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากมักมีระเบียบสงวนไว่ให้กับนักลงทุนรายใหญ่หรือมหาเศรษฐีเท่านั้น แต่ด้วยการเข้ามาของสินทรัพย์ดิจิทัลและกระบวนการ “เปลี่ยนให้เป็นโทเคน” (tokenization) หรือการสร้างตัวแทนในรูปแบบดิจิทัลของสินค้าขึ้นมา จะเป็นการเปิดโลกการลงทุนให้กว้างขึ้นอย่างมาก ยกตัวอย่าง การ tokenize งานศิลปะมูลค่าสูง ก็คือการสร้างโทเคนของงานศิลปะชิ้นนั้นขึ้นมาพร้อมกับการมีกลไกบางอย่างที่ระบุว่าโทเคนนี้มีมูลค่าเท่ากับงานศิลปะชิ้นนี้ ข้อดีของกระบวนการนี้คือ สามารถแบ่งย่อยหน่วยของโทเคนลงไปได้ตามต้องการ ซึ่งก็หมายความว่ามูลค่าเริ่มต้นของโทเคนย่อยอาจไม่สูงมากเกินกำลงซื้อของคนทั่วไป ทำให้สามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของและเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อนจนกระทั่งการมาถึงของบล็อกเชน
แม้ว่าเราอาจไม่เห็นมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นราวติดจรวดเหมือนช่วงปลายปี 2560 แต่อุตสาหกรรมนี้จะยังไม่สูญสลายไปสิ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่าง Bitcoin ซึ่งแม้ว่ามูลค่าจะลดลงมามาก แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีตสัก 3-4 ปีจะเห็นว่ามูลค่าได้เพิ่มขึ้นมาไม่น้อยอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของตลาด นี่ยังไม่นับรวมสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอย่าง Ethereum, Ripple หรือ EOS ที่ต่างมีชุมขนและนักพัฒนาช่วยกันกำหนดแนวทางและผลักดันสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมนี้ให้แน่นขึ้น พร้อมรองรับตลาดขาขึ้นต่อไป
สรุป
ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสบภาวะขาลงอย่างรุนแรงตลอดทั้งปีที่แล้วทำให้ตลาดปีนี้เคลื่อนไหวไม่หวือหวา ราวกับได้สติและหันมาให้ความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ปีนี้เราจะได้เห็นการเข้ามาของภาคธุรกิจขนาดใหญ่กับนักลงทุนสถาบันที่ศึกษาและมีแผนงานนำเทคโนโลยีนี้มาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่นักลงทุนรายย่อยก็มีแนวโน้มเป็นเจ้าของสินทรัพย์มูลค่าสูงที่ผ่านกระบวนการ tokenize ทำให้ซื้อขายและเปลี่ยนมือได้สะดวกมากขึ้น ด้วยศักยภาพที่มากล้นของเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ชุมชนและนักพัฒนายังคงขะมักเขม้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่คู่กับเราไปอีกนานครับ